ไม่ว่าจะอยู่ในสายงานไหน…ตอนนี้ก็หนีคำว่า Data ไม่พ้นแล้ว และหนึ่งในอุตสาหกรรมที่กำลังเปลี่ยนไปคือ “ประกันรถยนต์” บทความนี้เลยอยากชวนคุณมาถอดรหัสและเจาะลึก Insight การใช้ข้อมูลและเทรนด์ในประกันภัยรถยนต์ในฉบับ Data Echooo กัน
สรุปเนื้อหาส่วนหนึ่งจากงานแถลงข่าวเปิดตัวงาน InsureX FORUM 2025 : Uncertainty to Transformation โดย สิรวิชญ์ ฉายะวาณิชย์ (Head of Priceza Money)
1.ข้อมูลของคุณ = เรซูเม่ติดตัว
Data กำลังจะกลายเป็น ‘เรซูเม่’ สำหรับการประกันรถยนต์ เพราะการตั้งราคาเบี้ยจะไม่ได้อิงจากแค่รุ่นของรถยนต์อีกต่อไป แต่จะอิงจากพฤติกรรมการขับขี่ของคุณ
เดิมทีเมื่อเบี้ยประกันสูงขึ้นเรามักจะย้ายบริษัทประกันภัยรถยนต์จากบริษัทหนึ่งไปอีกบริษัทหนึ่งเพื่อรับส่วนลดเพราะมันไม่มีข้อมูลหรือประวัติที่เราเคลมหรือชนตามมา
ในปี 2026 (ตั้งแต่ 1 มกราคม) จะบังคับใช้กฏใหม่ที่ว่า หากต้องการทำประกันรถยนต์ ต้องมีการระบุผู้ขับขี่ ระบุชื่อคนขับ 1 คนขึ้นไป สูงสุดได้ 5 คน ซึ่งหากคนขับมีประวัติการขับรถที่ดี ในปีต่อๆไปมีสิทธิ์จะได้รับส่วนลดพฤติกรรมผู้ขับขี่ตั้งแต่ 10% และสูงสุด 40%
และทางคปภ.ได้เปิดตัวระบบ Open Insurance ที่บริษัทประกันภัยสามารถเข้าถึงและแบ่งปันข้อมูลของผู้เอาประกันได้ นั่นหมายความว่า ข้อมูลการขับรถของคุณ เช่น พฤติกรรมการขับ ประวัติการเคลม ฯลฯ จะไม่อยู่แค่ในบริษัทเดียวอีกต่อไป (เปรียบเหมือนเครดิตบูโร)
ประกันแบบเหมารวม → เฉพาะบุคคล (Personalized)
เมื่อบริษัทประกันมีโปรไฟล์ของผู้ขับขี่ เก็บ เพศ อายุ จังหวัด พฤติกรรมขับ เคยเคลมบ่อยมั้ย ทำให้ราคาที่ได้แตกต่างกัน ถ้าคนไหนมีพฤติกรรมขับดี = ได้ราคาดี แต่ถ้าคนไหนขับไม่ดีก็จะราคาสูงแม้จะย้ายบริษัทก็ตาม
Case Study
Tesla Insurance ใช้ข้อมูลพฤติกรรมการขับขี่ที่ได้จากรถแบบเรียลไทม์มาคำนวณและปรับเบี้ยในแต่ละเดือน โดยคำนวณเป็นคะแนน หากคุณขับดี คะแนนความปลอดภัยสูง เบี้ยก็ถูกลงในเดือนนั้น
จากแข่งราคา → สู่แข่งประสบการณ์
จากเดิมที่ธุรกิจประกันภัยจะดึงดูดลูกค้าด้วยราคาที่ถูกกว่า แต่เมื่อทุกคนในอุตสาหกรรมเห็นข้อมูลโปรไฟล์ของลูกค้าว่าขับขี่เป็นอย่างไร ทำให้การทำราคาของแต่ละบริษัทอาจจะออกมาได้ไม่ต่างกันมากนัก เพราะคงไม่มีประกันเจ้าไหนที่เห็นลูกค้าขับแย่แล้วจะมาทำราคาเบี้ยให้ต่ำกว่าหรอก (เพราะมันคือความเสี่ยงที่ประกันต้องรับผิดชอบ) ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่จะทำให้แตกต่างกันคือประสบการณ์และการบริการที่จะทำให้ลูกค้าประทับใจ
2.มีข้อมูล + เข้าใจข้อมูล = ปรับตัวได้ทัน
ในโลกธุรกิจวันนี้การมีข้อมูลอย่างเดียวอาจไม่พอ ต้องมีความเข้าใจและตัดสินใจ ปรับตัวได้ทันเวลาด้วย หนึ่งใน Case Study ที่น่าสนใจคือรถยนต์ไฟฟ้า (EV)
ที่ผ่านมา บริษัทประกันเคยใช้กลยุทธ์ลดราคาแข่งกัน (Price War) เพื่อแย่งลูกค้า แต่เมื่อข้อมูลเริ่มสะท้อนความจริงมากขึ้น ประกันเริ่มมองเห็น “ต้นทุนแฝง” ที่ทำให้ต้องรีบปรับราคาขึ้นมา เพราะรู้ว่าการลดราคาไม่คุ้ม
- อัตราการเคลม ราคาอะไหล่ และค่าแรงการจัดซ่อม
- สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนของ EV จากประเทศจีนเช่น NETA ที่มีปัญหาด้านการเงิน ทำให้ไม่มีอะไหล่ส่งมาทำให้จอดรอซ่อมเป็นเดือน
- การซ่อมอู่ทำได้ยาก: ซ่อมอู่ได้เฉพาะตัวถัง แต่ถ้าเป็นระบบต้องเข้าศูนย์อย่างเดียว
นอกจากนี้ยังความเสี่ยงด้านมูลค่ารถตก ที่ราคารถมือหนึ่งตกลงเร็ว เช่น BYD เปิดตัว 1.2 ล้าน → ตอนนี้เหลือ 600k ซึ่งในมุมของบริษัทประกันภัยต้องลดทุนให้เร็วพอ เพราะถ้ายังตั้งทุนประกันไว้สูง อาจเสี่ยงเกิด moral hazard (ความเสี่ยงทางศีลธรรม) จากผู้เอาประกันที่อาจมองว่าขับรถลงคลองแล้วเอาทุนประกันไปซื้อรถใหม่ เพื่อได้กำไรส่วนต่าง
การมีข้อมูล…ไม่เท่ากับการอยู่รอด
สิ่งสำคัญกว่าคือ “ความเข้าใจ” ที่ทำให้คุณอ่านสัญญาณได้ขาด และ “การตัดสินใจทันเวลา” ก่อนที่ความเสี่ยงจะกลายเป็นต้นทุน
3. ออนไลน์กำลังเปลี่ยนเกมทั้งระบบ
ทุกอุตสาหกรรมกำลังเปลี่ยนผ่านเป็น ออนไลน์ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือประกันภัย ในปัจจุบันประกันรถยนต์ที่ขายแบบออนไลน์ มีราคาที่ถูกกว่าการซื้อกับช่องทางดั้งเดิมอย่างตัวแทนหรือนายหน้าราวๆ 17% คิดเป็นเงินประมาณ 5,000-6,000 บาท แต่ยังไม่เป็นที่นิยมมากนักเพราะ
- ขั้นตอนการซื้อยุ่งยากและซับซ้อน ข้อมูลกรอกเยอะ
- บริษัทประกันส่วนใหญ่ยังพึ่งพาช่องทางนายหน้าและตัวแทนเป็นส่วนใหญ่เพราะกลัวสูญเสียช่องทางการขายหลักในปัจจุบันไป
จากข้อมูล ในประเทศไทยเรามีตัวแทน 21,625 คน + นายหน้า 165,014 คน ถ้าหากบริษัทประกันภัยย้ายไปออนไลน์ทั้งหมด 100% อาจจะมีคนตกงานหลักแสน
แม้ตอนนี้คนที่กดไปซื้อผ่านออนไลน์จะมี 10% (ข้อมูลจาก Priceza Money) ส่วนใหญ่เป็นคนที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า หรือรุ่นใหม่ที่ถนัดเทคโนโลยี แต่ในอนาคตคนกลุ่มนี้จะมีเยอะขึ้นเรื่อยๆ
คนขายประกันทั้งตัวแทนและนายหน้าต้องเริ่มคิดตั้งแต่วันนี้ว่า ‘เราจะอยู่ตรงไหนเมื่อประกันรถยนต์ถูกซื้อขายออนไลน์แบบ 100%’ อาจจะต้องปรับบทบาทเช่นเป็น Advisor แทน
เพราะถ้าเราไม่ปรับเปลี่ยนตัวเองก็อาจจะตายไปพร้อมกับสิ่งเก่าๆ
บทสรุป
จะเห็นได้ว่า Data ไม่ได้เปลี่ยนแค่ตัวกำหนดราคาแต่เป็นตัวสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจในทุกมิติ ดังนั้นข้อมูลไม่ใช่แค่สิ่งที่ “มี” แต่ต้อง “เข้าใจและใช้ให้เป็น” ด้วย