Interview

‘คนอื่นเห็นเส้นใย moreloop เห็น Data’ คุยกับสตาร์ทอัพที่ใช้ Data คืนชีพเศษผ้าอุตสาหกรรม

interview-moreloop-by-dataechooo

มองภายนอกเราอาจเห็น ‘moreloop’ ธุรกิจ เป็นสตาร์ทอัพที่นำเทรนด์ Circular Economy มาสร้างเป็นธุรกิจแมทช์ผ้าเหลือจากโรงงาน กับความต้องการของดีไซเนอร์รายเล็กกำลังน้อย เกิดเป็น Pipeline ใหม่คืนชีพผ้าที่ธรรมดาควรจะอยู่ในหลุมฝังกลบหรือเผาทำลาย ให้กลายเป็นแฟชั่นไอเทมมูลค่าสูงอีกครั้ง

แต่หากมองลึกลงไปจะพบว่า สิ่งที่ moreloop ถักทอลงไปในในเส้นใยของผ้าแต่ละผืน ไม่ใช่เพียงไอเดียธุรกิจสุดเก๋ แต่ยังมี ‘Data’ ที่อธิบายทุก Attributes กว่า 20 รายการของผ้าแต่ละชนิด ถูกใส่ไว้ใน QR Code บนผ้าแต่ละผืน ยกระดับจากการเป็นพ่อค้าผ้าเหลือ ให้กลายเป็นศูนย์รวม Database ของผืนผ้าที่ใหญ่ที่สุดในไทย หรืออาจจะในอาเซียน ทำให้ทั้งฝั่งคนที่มองหาผ้า และโรงงานที่อยากจะส่งต่อม้วนผ้า ได้ Match กันอย่างเหมาะสมที่สุด

ในบทความนี้ Data Echooo จะพาทุกคนมานั่งหลังเวที CTC2024 คุยกับ ‘คุณอมรพล หุวะนันทน์’ หนึ่งใน Co-Founder ของ moreloop ถึงการนำ Data มาเป็นแกนกลางของธุรกิจ และเส้นทางสุดทรหดของ Green Business ที่ทำกำไรและเติบโตได้จริง

.

มองผ้าแต่ละผืนแบบที่คนอื่นไม่เห็น ด้วยเลนส์ของ ‘Data’

ในขณะที่คนอื่นมองผ้าแต่ละผืนเห็นถึงความสวยงาม สีสัน ความนุ่ม ความยืดหยุ่นของเส้นใย หรือดีไซน์การตัดเย็บในขั้นต่อไป แต่ที่ moreloop พี่อมรพลและทีมมองเห็น Data ที่แฝงอยู่ในผ้าผืนนั้นๆ ซึ่งในผ้าหนึ่งผืนมี Element ในการขายประมาณ 20 อย่าง เช่น หน้าผ้า น้ำหนักผ้า สีของผ้า วิธีการทอ ซึ่งมักถูกผู้บริโภคมองข้าม เพราะเห็นว่าราคาไม่แพงเลยคิดว่าได้มาง่าย แต่อันที่จริงผ้าแต่ละผืนเกิดจากการถักทอของเส้นใยนับแสน นับล้านเส้น กว่าจะกลายมาเป็นเสื้อที่ปกคลุมบนร่างกายเราอยู่ตอนนี้

“เวลาผมมองผ้าก็จะมองเป็นหนึ่ง Row ของโปรแกรม Excel”

Data ที่สอดประสานอยู่ในเส้นใยของผ้านี่เอง ก็ใช้เวลานานในการสกัดออกมา กว่าจะรวบรวมจนได้เป็นคลังข้อมูลเพื่อเอาไว้สื่อสารได้ทั้งทางกับผู้ค้าทุกราย และลูกค้าทุกเจ้า ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายเพราะไม่เคยมีใครบอกวิธีว่าต้องทำอย่างไร แต่ moreloop ก็ค่อยๆ สร้างขึ้นมา จนกลายเป็นคลัง Database ของผ้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ 

และด้วยข้อมูลเหล่านี้ ก็สามารถพลิกให้ผ้าเหลือ กลายมาเป็นวัตถุดิบได้ใหม่ ข้อมูลเหล่าที่สกัดออกมาจากผ้าแต่ละชุดจะบอกได้ว่าผ้าล็อตนี้จะเอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง ความสามารถในการใช้ซ้ำมีมากน้อยแค่ไหน เป็นประโยชน์ต่อหน้าบ้านบริษัท ให้ลูกค้าสามารถฝากขายผ้ากับ moreloop ได้อย่างง่ายดาย สามารถเชื่อมต่อข้อมูลได้กับทั้งประเทศ หรือทั้งโลก โดยคุณอมรพล เล่าถึงกรณีโรงงานผ้าที่อิตาลี ที่มีผ้าเหลือต้องการจะขายกับ moreloop ก็สามารถ ‘เชื่อมต่อ API ผ้า’ ข้ามโลกได้อย่างไร้รอยต่อ เชื่อมคลังผ้าเหลือส่งตรงจากโรงงานอิตาลี สู่มือลูกค้าชาวไทย

“เมื่อคุณมี data ที่ถูกต้อง ขยะจะกลายเป็นวัตถุดิบทันที”

ไม่ว่าจะเศษวัสดุจากอุตสาหกรรมผ้า เครื่องหนัง โลหะ หรือวัสดุใดๆ moreloop เชื่อว่าการที่เราเข้าใจวัตถุดิบและมี Data ที่ดีเพียงพอ ก็จะสามารถสร้างเป็นโมเดลหมุนเวียน แบบที่ทำอยู่ในปัจจุบันนี้ได้ จึงมองการเติบโตของธุรกิจไม่จำกัดเพียงแค่การค้าขายผ้าเท่านั้น แต่อาจขยายไปยังเศษเหลือจากวัสดุอื่นๆ ด้วย Know-how ด้านการสร้างคลังข้อมูลวัสดุ และความเชื่อมั่นของลูกค้าที่มองว่า moreloop เป็นแพลตฟอร์ม ‘วัตถุดิบเหลือคุณภาพดีจากโรงงาน’ moreloop จึงนับว่าเป็นธุรกิจที่มีโอกาสกการเติบโตที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในช่วงที่โลกกำลังเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวอย่างทุกวันนี้

แต่ดังเช่นธุรกิจยั่งยืน และธุรกิจสีเขียวอื่นๆ ในไทย ‘moreloop’ ก็มีจังหวะที่เกือบไม่ได้ไปต่อ…

.

เมื่ออดีตนักวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านเครดิต เห็นวิกฤตของบริษัทตัวเอง

แม้ความเชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านเครดิต และประสบการณ์การทำ Marketplace ของคุณอมรพล ผสานกับองค์ความรู้จากทายาทธุรกิจผ้าของ ‘คุณธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์’ Co-Founder อีกท่าน จะทำให้โมเดลธุรกิจพ่อค้าผ้าเหลือของ moreloop แหวกกว่าใครในตลาด ตอบโจทย์ความต้องการของทั้งฝั่งโรงงาน ผู้ซื้อ และยื้อชีวิตผ้าก่อนที่จะจบลงที่หลุมฝังกลบ แต่ในตอนแรกของการทำธุรกิจ การจับผ้าเหลือจากโรงงาน มาพบความต้องการของลูกค้า กลับไม่ง่ายอย่างที่คิด

“3 เดือนขายได้ 600 กิโล ฟังดูเหมือนเยอะ แต่ถ้าเราคูณ 150 บาทต่อกิโล มันเท่ากับ 90,000 บาท 

หาร 3 เดือน เท่ากับ 30,000 บาท คูณ Margin 20% เหลือ 6,000 บาท – กำไรเดือนละ 6,000 บาท มันเป็นสตาร์ทอัพได้ไหม?”

ย้อนกลับในวันที่เทรนด์ความยั่งยืนยังไม่รุนแรง และไม่มีใครอยากที่จะซื้อขยะมาผลิตของ moreloop จึงต้อง ‘Pivot’ เพื่อหาโมเดลธุรกิจที่ตอบโจทย์ตลาดมากกว่า ซึ่งมาลงตัวที่การผลิตสินค้า Upcyling เปลี่ยนผ้าเหลือมาเป็นเสื้อ และของที่ระลึกสำหรับองค์กร เป็นจังหวะประจวบเหมาะกับที่โครงการ ‘BANPU Champion for Change ปีที่ 8’ ได้เป็นสะพานพาบริษัทเข้าไป  Match กับผู้บริหารของเครือ SCG ซึ่งกำลังมุ่งไปทิศทาง ‘Circular Economy’ หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน ทำให้ moreloop ได้ผลิตเสื้อในโครงการเพื่อสังคมของเครือ SCG และมีลูกรายอื่นๆ ตามมา จนทำให้บริษัทโตกว่า ‘20 เท่า’ ในเวลาต่อมา�

ปัจจุบัน moreloop ได้ใช้ความเชี่ยวชาญในด้านวัสดุสิ่งทอ แตกเป็น 3 โมเดลธุรกิจหลัก คือ แพลตฟอร์มคนกลางจำหน่ายผ้าเหลือ (B2B2C) ธุรกิจรับผลิตสินค้าและของที่ระลึกสำหรับองค์กรด้วยการ Upcycling ผ้าเหลือ (B2B) และธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์ของ moreloop เอง (B2C) ซึ่งทั้ง 3 ธุรกิจ ต่างมีหัวใจหลักเดียวกันคือ ‘ผ้าเหลือจากโรงงาน’

“มีคนบอกว่า moreloop มี Timing ที่ดี ตอนนี้ก็ยังถือเป็น Timing ที่ดี ไม่มีคำว่าสายไปสำหรับ Sustainable/Green Business มันจะเป็นอนาคตด้วยซ้ำ”

.

ข้อคิดสำหรับธุรกิจสาย  ‘Sustainable/Green Business’ จากพ่อค้าผ้าเหลือ

เมื่อถามถึงหลักคิดที่อยากจะส่งต่อไปยังธุรกิจสายกรีนอื่นๆ คุณอมรพลคิดครู่ใหญ่ ก่อนจะบอกความในใจว่า ธุรกิจสาย Sustainable/Green Business ทุกประเภทนั้นเจอโจทย์ยากตั้งแต่เริ่มต้น เพราะการทำธุรกิจจริงๆ แล้วควรคิดได้อย่างอิสระ ไม่มีข้อจำกัด แต่สำหรับสายนี้กลับมีกรอบมากมายทั้งการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และการทำให้ธุรกิจเติบโต

“คุณต้องบาลานซ์ Sustainability Idealism ของคุณ กับ Profitable Economic Model ให้ได้พร้อมๆ กัน”

โมเดล LEAN Startup ยังคงทำหน้าที่ได้ดีแม้ในยุคสมัยปัจจุบัน ‘รีบลอง เริ่มทำ และซื่อสัตย์กับตัวเอง’ แล้ววนลูปกลับไปลองใหม่ ยิ่งในปัจจุบันที่คนแข่งกันกรีน เทคโนโลยีอย่าง ‘AI’ จะกลายมาเป็น Creativity Engine สร้างให้เรามี Green Competitiveness เหนือคู่แข่งได้
 

“ในเกมการแข่งขันว่าใครจะกรีนกว่ากัน ธุรกิจต้องดีด้วย บาลานซ์ให้ดี
เพราะแพชชั่นอย่างเดียวมันไม่อิ่มท้อง”

Author

Keerati Chukorn

Help People Achieve More, Sustainably