ในยุคที่ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ การสามารถแปลงข้อมูลที่ซับซ้อนให้กลายเป็น Insight และสามารถสื่อสารผ่าน Visual หรือภาพที่เข้าใจได้ง่าย และสามารถนำไปใช้ตัดสินใจได้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ทาง Data Echooo เลยพาทีมงานไปอัปสกิลเข้าร่วมคลาสเรียน Visual Pro: Elaborate Insights with Data Brilliance ที่จัดขึ้นโดย True Digital Academy เพื่อเสริมทักษะการใช้งาน Power BI และ Data Analytics แล้วอยากมาแชร์ประสบการณ์และเนื้อหาดี ๆ ให้ทุกคนได้ฟังกัน ~
ประสบการณ์การเรียน
คอร์ส Visual Pro: Elaborate Insights with Data Brilliance เป็นการเรียนแบบ Onsite 2 วันเต็ม ไปเรียนที่ True Digital Academy Campus (อยู่ใน True Digital Park, BTS ปุณณวิถี) ซึ่งสอนโดยรองศาสตราจารย์ ดร.ทศนัย ชุ่มวัฒนะ (อ.เนย) โดยรวมคือดีมาก เป็นคลาสที่รู้สึกแตกต่างจากที่เคยที่เข้าร่วมที่ผ่าน ๆ มา แม้ตัวคอร์สจะสอน Power BI แต่อ.ให้ความสำคัญกับ Data Thinking มากกว่าการไปจับมือสอนใช้เครื่องมือ อาจารย์ชวนให้เราตั้งคำถามด้วย คำถามทางธุรกิจ (Business Question) เป็นการเปิดมุมมองให้เราเห็นการใช้งานจริงของการวิเคราะห์ข้อมูล ทั้งในชีวิตประจำวันและในธุรกิจต่างๆ ซึ่งการเรียนรู้ผ่านคำถามเหล่านี้ช่วยให้เข้าใจวิธีการตั้งคำถามและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ สิ่งที่ประทับใจที่สุดในคอร์สนี้คือการสอนที่เป็นกันเองและสนุกสนาน อาจารย์ไม่เพียงแค่บรรยายข้อมูล แต่ยังนำเคสตัวอย่างจริงมาให้เราได้ร่วมคิดและแก้ปัญหาร่วมกับคนในคลาสเรียน ทำให้การเรียนไม่น่าเบื่อและได้ลงมือปฎิบัติจริง
ซึ่งตัวเนื้อหาการเรียนการสอนไม่ได้สอนแค่ PowerBI เท่านั้นแต่สอนคลอบคลุมตั้งแต่ Data Analytics Workflow , การใช้เครื่องมือ Power BI, การ Cleansing Data, Transform Data, DAX, Visualize, Interpret ไปจนถึงการออกแบบแดชบอร์ด และการนำเสนอ รวมทั้งมีเฟรมเวิร์กอย่าง Business Data Canvas ที่อ.ออกแบบมาให้ไปใช้งานได้จริง ซึ่งในพาร์ทการเรียน Power BI อ.เน้นเริ่มต้นด้วยโจทย์ต่าง ๆ ว่าถ้าต้องการแก้ปัญหา หรือวิเคราะห์สิ่งนี้ ต้องทำอย่างไร มากกว่าการพิมพ์ตามเท่านั้น ทำให้เมื่อเรียนจบแล้วก็พร้อมนำไปใช้งานได้ทันที
ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ดีและได้ความรู้ที่มีค่าจากการเรียนในคลาสนี้ ทาง Data Echooo จึงไม่พลาดที่จะนำ Key Takeaways สำคัญ ๆ มาแชร์ให้ทุกท่านได้อ่านกันครับ
Key Takeaways
#1: ข้อมูลในธุรกิจที่มีอยู่จะช่วยตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างไร
หลายธุรกิจมีการเก็บข้อมูลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลสินค้า ข้อมูลลูกค้า หรือยอดคำสั่งซื้อ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นข้อมูลพื้นฐานในธุรกิจแต่เราอาจจะยังไม่เคยหยิบนำมันมาใช้งาน นั้นลองมาดูกันว่าจะสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาตอบโจทย์กับความต้องการของลูกค้าได้อย่างไร?
- ข้อมูลสินค้า: เช่น ชื่อสินค้า ประเภทสินค้า ยอดขายแต่ละรายการ หากนำมาวิเคราะห์ข้อมูลจะช่วยให้รู้ว่าสินค้าใดเป็นที่นิยมและควรมีในสต็อกเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกัน สินค้าที่มียอดขายต่ำควรมีการจัดการที่เหมาะสมเพื่อลดพื้นที่เก็บสต็อกที่ไม่จำเป็น
- จำนวนของลูกค้าในแต่ละภูมิภาค/จังหวัด: ข้อมูลจาก external data เช่นจำนวนประชากรในแต่ละจังหวัด จะทำให้เห็นถึง demand ความต้องการในแต่ละภูมิภาค เพื่อจัดสต็อกสินค้าในจังหวัดที่มีความต้องการสูงได้
- ข้อมูลยอดคำสั่งซื้อ: ข้อมูล Transaction ที่บอกวันและเวลาและยอดขายสินค้าต่าง ๆ จะทำให้เรารู้ว่าลูกค้ามักจะซื้อของในวันไหน หรือในช่วงเวลาไหนที่เป็น Peak Time ทำให้เราสามารถวางแผนการจัดสต็อกสินค้าได้ถูกที่และถูกเวลา ช่วยลดโอกาสสินค้าหมดสต็อก ไม่ให้เกิดการจัดส่งที่ล่าช้า เพิ่มความพึงพอใจให้ลูกค้า และเพิ่มยอดขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
#2: แนวทางการปรับปรุงประสบการณ์ลูกค้า ด้วย Data ซึ่งนำไปสู่ยอดขายที่ดีขึ้น
เริ่มต้นด้วยการ“ระบุปัญหาที่เกิดขึ้น” เช่น ยอดขายลดลง หรือ ความไม่พอใจของลูกค้า เมื่อรู้ถึงปัญหาแล้วให้ลองดูก่อนว่าปัจจุบันเรามีข้อมูลอะไรบ้าง เช่น คะแนนความพึงพอใจของลูกค้า, การเงิน, และยอดขาย ให้นำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์และประมวลผล ใช้กราฟมาช่วย Visualize เพื่อช่วยในการนำเสนอและการวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการใช้ข้อมูลมาช่วยวิเคราะห์และตัดสินใจ จะช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนได้อย่างมั่นคง
#3: 5 ขั้นตอนการวิเคราะห์ข้อมูล
การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นกระบวนการสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถตั้งโจทย์ได้อย่างแม่นยำและดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีดังนี้
- ตั้งโจทย์ (Frame) – การตั้งโจทย์อย่างแม่นยำเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ยิ่งโจทย์ชัดเจนเท่าไร การวิเคราะห์ข้อมูลก็จะยิ่งแม่นยำมากขึ้น
- เตรียมข้อมูล (Prepare) – ขั้นตอนนี้จะเป็นการหาข้อมูล และการทำความสะอาดข้อมูล (data cleansing) เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์มีคุณภาพและถูกต้อง
- การวิเคราะห์ (Analyze) – ต้องทำให้สามารถตอบคำถามหรือโจทย์ที่ตั้งไว้ได้ ซึ่งต้องใช้เทคนิคและเครื่องมือในการวิเคราะห์ที่เหมาะสม
- การตีความผลลัพธ์ (Interpret) – หลังจากการวิเคราะห์แล้ว ต้องดูผลลัพธ์และระบุจุดที่ต้องการการดำเนินการ (spot) เพื่อให้สามารถตัดสินใจและดำเนินการ (take action) ได้อย่างถูกต้อง
- การสื่อสาร (Communication) – การเรียกทุกคนที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันเพื่อให้เห็นถึงผลลัพธ์ และแผนการดำเนินการอย่างชัดเจน เพื่อให้ทุกคนมีความเข้าใจตรงกันและสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
#4: Issue Tree เครื่องมือสำคัญในการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหา
Issue Tree เป็นเครื่องมือสำคัญในการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหา โดยการแยกประเด็นใหญ่เป็นประเด็นย่อยเพื่อหาสาเหตุและแนวทางแก้ไข ตัวอย่างเช่น
ประเด็นหลัก:ยอดขายตก
วัตถุประสงค์: ต้องการเพิ่มยอดขาย xx% ภายในปีหน้า
Breaking down problem
จากประเด็นหลักให้แยกปัญหาเป็นส่วนย่อยๆ ที่มีขนาดเล็กลงและสามารถจัดการได้ง่ายขึ้นเช่น
- Promotion: วิเคราะห์โปรโมชั่นปัจจุบันและพิจารณาการปรับปรุง
- Ecommerce Platform: ตรวจสอบและปรับปรุงแพลตฟอร์มออนไลน์
- Event: การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย
- ลูกค้าเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม?: การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อของลูกค้า เช่น การช้อปปิ้งออนไลน์มากขึ้น
- Season Effect?: ผลกระทบจากฤดูกาลที่ส่งผลต่อยอดขาย
Solution
หาวิธีการแก้ไขที่เหมาะสมสำหรับแต่ละส่วนย่อยเช่น
- ปรับปรุงโปรโมชั่น: จัดโปรโมชั่นที่ดึงดูดและตอบสนองความต้องการของลูกค้า
- พัฒนา Ecommerce Platform: ปรับปรุงแพลตฟอร์มออนไลน์ให้ใช้งานง่ายและดึงดูดลูกค้า
- จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย: จัดกิจกรรมที่สร้างความสนใจและกระตุ้นยอดขาย
#5: การตั้งเป้าหมาย SMART Objective เพื่อความสำเร็จทางธุรกิจ
การตั้งเป้าหมายแบบ SMART เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้การวางแผนและดำเนินการทางธุรกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีองค์ประกอบ 5 ส่วนดังนี้
- S – Specific (ชัดเจน)
เป้าหมายต้องชัดเจนและเข้าใจง่าย เช่น “เพิ่มยอดขาย 20% ในตลาดออนไลน์ภายใน 6 เดือน” - M – Measurable (วัดผลได้)
การมีข้อมูลที่ใช้ได้และชัดเจนเป็นสิ่งสำคัญ เช่น “วิเคราะห์ยอดขายปัจจุบันและติดตามยอดขายรายเดือน” - A – Achievable (ทำได้จริง)
ต้องพิจารณางบประมาณและทรัพยากรที่มี เช่น “มีงบประมาณในการทำโฆษณาออนไลน์ 100,000 บาท” - R – Relevant (สอดคล้องกับเป้าหมายธุรกิจ)
เป้าหมายต้องตอบโจทย์และสอดคล้องกับเป้าหมายธุรกิจ เช่น “เพิ่มยอดขายเพื่อขยายฐานลูกค้าและเพิ่มส่วนแบ่งตลาด” - T – Time-bound (มีกรอบเวลา)
การกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนและเป็นไปได้ เช่น “บรรลุเป้าหมายภายใน 6 เดือน”
#6: Power BI เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการวิเคราะห์และแสดงผลข้อมูล
เครื่องมือ Power BI ไม่ได้มีดีแค่เรื่องของการทำ Visualize ข้อมูลเท่านั้น แต่สามารถจัดการกับข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถทำ Transformation data (การแปลงข้อมูล) เช่น
- การทำความสะอาดข้อมูล (Data Cleaning): การลบหรือแก้ไขข้อมูลที่ผิดพลาด (Invalid) หรือไม่สมบูรณ์ (Missing values) หรือการแก้ไขค่า Outlier (ข้อมูลที่เกินขอบเขต) เช่น ข้อมูลอายุลูกค้า 124 ปี ซึ่งเป็นข้อมูลที่อาจจะผิด จากการกรอก ซึ่งในโลกความเป็นจริง data ไม่ได้พร้อมใช้งานแต่แรก จึงต้องมีการทำความสะอาด
- เปลี่ยนประเภท Data Type กำหนด Value ตามเงื่อนไขได้
- Split Column– ข้อมูลคอลัมน์ ชื่อ อาจมีทั้งคำนำหน้า ชื่อ นามสกุลเช่น “นาย สมชาย ใจดีจัง” แต่เราไม่มีข้อมูลเพศ เราก็สามารถ Split คำนำหน้า แล้วไปตั้งเงื่อนไขเพื่อแปลงเป็นเพศได้
- Append Data – ในกรณีที่เรามีข้อมูลหลายไฟล์เช่น ข้อมูลยอดขายแยกไฟล์ตามปี เราสามารถใช้ PowerBI ในการนำข้อมูลมาต่อกันได้
- Unpivot Data – บางครั้งข้อมูลที่ได้มามาในลักษณะในรูปแบบที่ Pivot แล้ว ซึ่งข้อมูลลักษณะนี้จะนำไปวิเคราะห์ไม่ได้เลยต้องมีการ Unpivot ด้วยเทคนิค transpose data ซึ่งใน PowerBI สามารถทำได้ทันที
นอกจากนี้ใน PowerBI ยังมี DAX (Data Analysis Expressions) ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้สร้างสูตรและคำนวณข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องพึ่งพาแอปพลิเคชันอื่น ตัวอย่างสูตรสำคัญที่ช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลเช่น หากต้องการคำนวณกำไรรวมและอัตรากำไร
คำนวณกำไรรวม (Total Profit) เพื่อให้เข้าใจถึงกำไรที่ได้จากการขายทั้งหมดโดยหักต้นทุนรวมทั้งหมดออก
Total Profit = SUM('Order'[SALE]) - SUM('Order'[total cost])
คำนวณอัตรากำไร (Profit Margin %) เพื่อให้เข้าใจถึงร้อยละของกำไรที่ได้จากยอดขาย
Profit margin % = [Total Profit] / SUM('Order'[SALE])
โดยสูตร Total Profit
จะหากำไรรวมจากการขายทั้งหมดหักด้วยต้นทุนรวม และ Profit Margin %
จะคำนวณอัตรากำไรโดยการนำกำไรรวมมาหารด้วยยอดขายรวม
ศึกษา DAX เพิ่มเติมได้ที่ Data Analysis Expressions (DAX) Reference – DAX | Microsoft Learn
#7: แคมเปญเลขคู่ได้ผลจริงหรือไม่
เคยสงสัยกันไหมว่าแคมเปญวันเลขคู่อย่าง 5.5, 12.12 ได้ผลจริงหรือไม่กับร้านของเรา หรือเราแค่เห็นร้านอื่นทำก็เลยทำตาม เลยอยากชวนมาวิเคราะห์ดูกันว่า “promotion day” นั้นช่วยให้ยอดขายเพิ่มจริงหรือไม่? ให้ข้อมูลเป็นตัวบอกข้อเท็จจริงกัน
Step 1: แบ่งวันธรรมดาและ Big Sale
ให้สร้างคอลัมน์ใหม่ที่แสดงข้อมูลว่าใดเป็นวัน Big Sale (เช่น 11.11) และวันใดเป็นวันธรรมดา โดยใช้ IF Function ตรวจสอบว่าวันที่ในคอลัมน์ ORDER_DATE
เป็นวันที่ 11 หรือไม่ หากใช่จะกำหนดค่าเป็น “Big Sale” ถ้าไม่ใช่จะกำหนดค่าเป็น “Normal”
Promotion day = IF(DAY('Order'[ORDER_DATE])=11,"Big Sale","Normal")
Step 2: เปรียบเทียบ
ซึ่งเราไม่สามารถนำยอดขายรวม (SUM) ของวันโปรโมชั่นมาเทียบกับยอดขายรวม (SUM)ของวันธรรมดาได้ เนื่องจากวันธรรมดามีหลายวัน ในขณะที่วันโปรโมชั่นมีเพียงวันเดียว ดังนั้นเราจึงต้องปรับเป็นการคำนวณค่าเฉลี่ย (AVG) แทน ซึ่งจากข้อมูลเห็นได้ว่าวัน Big Sale สามารถสร้างยอดขายได้กว่าวันปกติ
#8: ออกแบบการแสดงผลข้อมูลด้วย TUFTE’S RULES RULE
Tufte’s Rules หรือกฎของ Edward Tufte เป็นหลักการในการออกแบบการแสดงผลข้อมูล (data visualization) ที่เน้นการนำเสนอข้อมูลอย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ ซึ่งมี 3 ข้อที่สำคัญคือ
- แสดงข้อมูล ไม่ใช่มีแค่ประเภท แต่ต้องมีตัวเลขข้อมูลแสดงด้วย
- แสดง label ได้แต่ต้องไม่เยอะเกินไป
- หลีกเลี่ยง Chartjunk ได้แก่ ไม่ตอบโจทย์สิ่งที่อยากรู้ (Business Goal), ตอบโจทย์แต่ดูไม่รู้เรื่อง
นี่ก็เป็น Key Takeaways ที่ทาง Data Echooo ได้นำมาฝาก ขอบคุณทาง True Digital Academy ที่จัดคอร์สดีๆ แบบนี้ขึ้นมาด้วยนะครับ
ประชาสัมพันธ์
สำหรับใครที่สนใจคอร์สเรียนดี ๆ แบบนี้ทาง True Digital Academy ยังมีคลาสเรียนดี ๆ อีกหลายคลาสทั้งสาย Data, Business, Tech ลองเข้าไปดูได้ที่ https://www.truedigitalacademy.com/
แต่คอร์สถัดไปที่ทาง Data Echooo อยากแนะนำและเนื้อหาเข้มข้นไม่แพ้กันคือ SQLPro: Extract Database For Real-World Success คอร์สที่ช่วยปูพื้นฐานเส้นทางสาย Data Engineer ตลอดจนสายงานของ Data Analyst และ Data Scientist ที่มีความต้องการใช้ SQL นี้ในการทำงานพร้อม Generative AI ที่ทำให้เก่งขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยเป็นคลาสเรียนสด Onsite เรียนทุกวันเสาร์ 09:00-13:00 น. (ตลอด 6 สัปดาห์เต็ม) เริ่มเรียน 22 มิ.ย. 67 – 17 ส.ค. 67 ซึ่งตอนนี้เหลือไม่กี่ที่นั่งแล้ว ดูรายละเอียดได้ที่ https://bit.ly/3VgjzWx